06/07/2558
ไอร่ารุกนาโนไฟแนนซ์
หลังจากประสบความสำเร็จจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ของบริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ระบุว่าช่วงจังหวะนับจากนี้ไปเป็นช่วงของการเติบโต และแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจในรูปแบบของการหาพันธมิตรทางธุรกิจรวมถึงการเข้าซื้อกิจการ
ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท AIRA & AIFUL Public Company Limited ด้วยทุนจดทะเบียนหลักพันล้านบาท โดยเป็นความร่วมมือกับ AIFUL CORPORATION บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer Finance) และเตรียมขยายขอบเขตธุรกิจไปถึงธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งประกาศหลักเกณฑ์ออกมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง
แม้จะเป็นหน้าใหม่ในธุรกิจนี้แต่นลินีมองว่าธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีความน่าสนใจไม่น้อย ไม่ใช้ด้านผลตอบแทนที่สามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดที่ 36% แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่ต่างจากคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์มากนัก และด้วยความตั้งใจในการลงทุนวางระบบคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์อยู่แล้ว หากสามารถนำระบบดังกล่าวมาปรับใช้กับนาโนไฟแนนซ์ได้ก็จะช่วยในเรื่องของต้นทุนการลงทุน โดยในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อทำระบบเครดิตสกอริ่ง และปรับการทำงานให้เข้ากับกฎระเบียบของทางการ ก่อนจะยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จากทางการใน 1-2 สัปดาห์นี้ และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ใน 6 เดือนข้างหน้า
“เป้าหมายแรกของเราคือการทำคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ให้เกิดขึ้นได้ก่อน โดยให้ไอฟูล์นำเข้าระบบมาเลยและคงใช้ระบบดังกล่าวมาใช้กับนาโนไฟแนนซ์ด้วย เพื่อให้นาโนไฟแนนซ์เข้ามาเสริมการเติบโตของบริษัท เรามองว่าประเทศไทยยังมีผู้เล่นในตลาดคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประชากร โดยค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ และมีความต้องการสภาพคล่องอยู่ หากนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ ก็จะเกิดประโยชน์กับประชากรและเศรษฐกิจได้”
สำหรับธุรกิจคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ที่หรือสินเชื่อบุคคลนั้นบริษัทคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนก.พ.นี้ หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติแผนธุรกิจแล้ว โดยจะเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน โดยเป็นลูกค้าต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีความต้องการสภาพคล่องค่อนข้างมาก เน้นการให้สินเชื่อหมุนเวียนที่มีวงเงินสินเชื่อต่อรายที่ตั้งไว้ไม่เกิน 2 แสนบาท
แน่นอนว่าการขยายธุรกิจดังกล่าวบริษัทจะต้องมีการขยายสาขา โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อสาขา หลังจากนั้นจะขยายธุรกิจไปยังจังหวัดเชียงใหม่ตามธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีแผนจะเข้าไปเปิดสาขาด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าต้องมีฐานลูกค้า 1 ล้านคน และประเมินว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในหลัก 3-5 หมื่นล้านต่อปี รวมถึงการนำบริษัทไอร่าแอนด์ไอฟูลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต เพื่อความเป็นสากลและรองรับการเติบโตในอนาคต
และระหว่างที่ธุรกิจคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์เริ่มให้บริการ บริษัทจะเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า ศึกษาข้อดีข้อเสียและประเมินความสามารถในการบริหารความเสี่ยง เพื่อกำหนดรูปแบบธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายและวงเงินสินเชื่อต่อราย ซึ่งอาจจะดำเนินการภายใต้บริษัทไอร่าแอนด์ไอฟูลหรือแยกออกไปจัดตั้งเป็นอีกบริษัทย่อย แต่ยอมรับว่าความเสี่ยงของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีมากกว่า จึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากกว่าและมีเครดิตสกอริ่งที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าของนาโนไฟแนนซ์จะเป็นคนละกลุ่มกับคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ ด้วยฐานลูกค้าที่มีรายได้ระดับต่ำกว่ามาก พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าและติดตามหนี้จะแยกออกจากกัน รูปแบบการติดตามหนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง แต่ด้วยพันธมิตรจากญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลมากว่า 48 ปี จึงเชื่อว่าน่าจะนำเอาประสบการณ์ที่มีอยู่มาพัฒนาธุรกิจในเมืองไทยได้
“วิธีคิดในการเก็บหนี้จะต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าต้องเอามาให้ได้ ลูกค้าอาจจะยังไม่สามารถจ่ายหนี้ บางกรณีอาจต้องเวฟหรือมีกลไกยืดหยุ่นให้ลูกค้ากลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรามองตรงกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นและไทยมีวัฒนธรรมเก่าแก่เหมือนกัน จึงไม่เห็นด้วยที่จะเน้นดอกเบี้ยสูงหรือเก็บหนี้ตรงเวลา เราไม่ได้มองนาโนไฟแนนซ์จะเป็นเหมือนหนี้นอกระบบ แต่เรามองว่าเป็นสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคที่มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงแหล่งเงินและมีรายได้ต่ำ นาโนไฟแนนซ์จะซัพพอร์ตลูกค้านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น”
ก่อนหน้านี้นลินีตั้งเป้าหมายว่าในปี 2559 จะมีขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากที่ได้จัดตั้งบริษัทไอร่าแอนด์ไอฟูลนี้แล้ว เชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเห็นได้ภายในปีนี้ และอาจต้องปรับเป้าหมายการเติบโตของสินทรัพย์ใหม่อีกครั้ง โดยแผนใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทต้องเข้าซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์ให้ได้ 12 บริษัท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยในปีนี้บริษัทยังเชื่อว่าจะสามารถเทคโอเวอร์ได้อีก 2 บริษัท
“ ไอร่าอยู่ในจังหวะที่ต้องโต ต้องสปีด นับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์มีต่างชาติติติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ตอนนี้มี 5 บริษัทแล้ว เราคาดว่าในปีนี้จะเทคโอเวอร์ได้อีก 2 บริษัท เช่นพลังงาน และก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุน แต่จะยังเน้นธุรกิจการเงินในสัดส่วน 75% ของการลงทุนและอีก 25% เป็นธุรกิจอื่นๆ”
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายการขยายตัวดังกล่าว นลินีมองว่าจะนำไปสู่การเติบโตเต็มที่ในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า หรืออยู่ในภาวะที่นิ่งเพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤติหรือที่จะเกิดขึ้นหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้